http://www.bizinthai.com/

การมีส่วนร่วมของคนงาน บริษัท Trimo

                เรื่องของแรงงานสัมพันธ์ที่ดี นอกเหนือที่นายจ้างจะต้องยอมรับเสรีภาพในการเข้าสมาคม การต่อรองของแรงงานแล้ว อีกประเด็นที่สำคัญทั้งฝ่ายเจ้าของกิจการและคนงานก็คือ การยอมรับการมีส่วนร่วมของคนงานในการบริหารจัดการในการทำงาน

 

กรณีศึกษา: คนงานมีส่วนร่วมสร้างความสำเร็จของบริษัท Trimo Trebnje

          ก่อนที่สโลเวเนียจะได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1991 บริษัท Trimo Trebnje เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์โลหะกันสนิมที่มีตลาดสำคัญคือยูโกสลาเวียและประเทศในโลกที่สามบางประเทศ หลังจากยูโกสลาเวียล่มสลาย สภาพการเมืองวุ่นวาย บริษัท Trimo สูญเสียส่วนแบ่งตลาดยูโกสลาฟไปเกือบหมด ต้องหันไปหาตลาดใหม่ในยุโรปตะวันตก ซึ่งการเข้าสู่ตลาดยุโรปตะวันตกนั้นจำเป็นจะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งหากจะทำได้นั้นจะต้องเปลี่ยนปรัชญาแนวคิดพื้นฐานของบริษัทเสียก่อน

        ปัจจุบันบริษัท Trimo ได้กลายเป็นบริษัทแนวหน้าของยุโรป ผลิตภัณฑ์ของบริษัทวางจำหน่ายใน 13 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยบริษัท Trimo ถือว่าประสบความสำเร็จสูงมาก

ตารางแสดงผลประกอบการบริษัท Trimo ในด้านรายได้ของพนักงาน (ข้อมูลการเงินเป็น 1,000 tolars ราคาในปี 1994)

 

1994

1995

1996

1997

1998

1999

จำนวนพนักงาน

565

512

428

405

411

418

รายได้ต่อพนักงาน

7,481

8,585

10,756

11,259

12,521

17,534

กำไรต่อพนักงาน

33

58

195

202

235

539

มูลค่าเพิ่มต่อพนักงาน

1,588

1,866

2,559

2,608

2,688

3,600

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยปี 1994 1 euro = 152 tolars มูลค่าเพิ่ม = รายได้ – ต้นทุนวัสดุ – ต้นทุนบริการ – ค่าเสื่อม +(-) มูลค่าสินค้าคงคลัง

 

เป้าหมายและหลักบริหารของบริษัทTrimo

           เมื่อประสบวิกฤตในตอนต้นทศวรรษที่ 1990 สิ่งแรกที่บริษัททำคือการเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูง ทันทีที่ Tatjana Fink เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปในทีมบริหารชุดใหม่ เธอได้กำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของบริษัทใหม่ว่า “จะต้องเป็นผู้นำการผลิตอาคารสำเร็จรูปในยุโรปภายในปี 2010” และสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอันดับแรกก็คือความพึงพอใจของลูกค้าโดยได้กำหนดคำขวัญของบริษัทใหม่ว่า “ลูกค้าที่พอใจจะนำกำไรมาให้”

            ทั้งนี้บริษัททราบดีว่าหากจะให้ลูกค้าพอใจนั้น บริษัทต้องเป็นผู้นำในด้านต้นทุนและคุณภาพ กล่าวคือต้องผลิตสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสม ซึ่งฝ่ายบริหารทราบดีว่าจะทำได้ก็ต้องอาศัยพนักงานทุกคนช่วยกันคิดสร้างสรรค์ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของบริษัท พร้อมกับปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและประสิทธิภาพ โดยสิ่งที่บริษัทเน้นก็คือการทำให้พนักงานเป็นแหล่งพลังความคิด พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในความสำเร็จของบริษัท

           “พนักงานคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เทคโนโลยีจะหาซื้อที่ไหนก็ได้ เงินทุนก็หาไม่ยาก” Fink กล่าว

          บริษัทได้ชี้แจงหลักการบริหารของบริษัทให้พนักงานทุกคนทราบโดยวิธีต่างๆ เช่น ฝึกอบรม ให้ข่าวสารและให้พนักงานมีส่วนร่วม การฝึกอบรมนอกจากจะใช้การฝึกอบรมทั่วไปหรือระหว่างทำงานแล้ว ยังจัดอย่างสม่ำเสมอและครอบคลุมทั้งบริษัท ผู้แทนสหภาพแรงงานคนหนึ่งอธิบายว่า พนักงานทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน และทำไมต้องเป็นพนักงานด้วย ถ้าไม่เข้าใจพนักงานก็จะคิดว่าเป็นการบังคับและอาจจะมีการต่อต้าน

 

            นอกจากมีการสื่อสารและฝึกอบรมที่ดีแล้ว ฝ่ายบริหารยังทำตัวให้เป็นตัวอย่าง เพื่อให้พนักงานเข้าใจว่าพนักงานต้องเปลี่ยนวิธีทำงานเพื่อความอยู่รอดของบริษัทและเพื่อให้ตนมีงานทำต่อไป ซึ่งเมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้วพนักงานเองกลับเป็นผู้ขอให้มีการอบรมเพิ่ม อย่างในปี 1998 พนักงานถึง 96% ต้องการที่จะเข้าอบรม

           ฝ่ายบริหารเชื่อว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะว่ามีข่าวสารข้อมูลที่เปิดเผยกันทั่วองค์กร มีการทำงานเป็นทีมซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันตลอดเวลา นอกจากจะมีทีมถาวรแล้ว บริษัทยังตั้งทีมเฉพาะกิจโดยสมาชิกของทีมคัดเลือกจากฝ่ายต่างๆ เครื่องมือสื่อสารนี้บริษัทเรียกว่า “Trimo Dialogue” ซึ่งเครื่องมือนี้เริ่มขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งที่พนักงานกับหัวหน้างานปรึกษาหารือเกี่ยวกับผลการทำงาน จากนั้นไม่นานบริษัทก็ประกาศเป็นนโยบายอนุญาตให้พนักงานสามารถนัดหมายกันพูดคุยเรื่องที่เกี่ยวกับงานของบริษัทได้

            นอกจากนี้ยังมีโครงการหลักสองโครงการที่พนักงานมีส่วนร่วมคือ กระบวนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (process of continuous improvement : PCI) และกระบวนการดูแลทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง (process of continuous care for property: PCCP)

 

กระบวนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (process of continuous improvement: PCI)

 

           โครงการ PCI เริ่มในปี 1995 เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายบริหารต้องการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยโครงการ PCI อาจเป็นโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ พนักงานทุกคนสามารถเสนอแนะวิธีการปรับปรุงการบริหารงานของบริษัทผ่านหัวหน้างานหรือตัวแทนพนักงานได้

           โดยวิธีการของ PCI มีขั้นตอนชัดเจน ทุกข้อเสนอจะต้องมีการลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานและนำเข้าประชุมโดยฝ่ายบริหารของบริษัท ข้อเสนอใดที่ได้รับความเห็นชอบจะถูกนำไปพัฒนาเป็นโครงการเต็มรูปแบบโดยมีเป้าหมาย มีแผนงานและกำหนดระยะเวลาชัดเจน เจ้าของความคิดนี้อาจเสนอชื่อทีมงานเองได้ โดยทั่วไปทีมจะประกอบไปด้วยสมาชิก 4-8 คน จากต่างแผนก ต่างตำแหน่งงาน ฝ่ายบริหารจะแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผล และปลายปีโครงการไหนได้คะแนนสูงสุดก็จะมีรางวัลให้ แต่ทั้งนี้การให้รางวัลก็ถือเป็นเพียงสัญลักษณ์ เนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานของคนในบริษัท Trimo นั้น พนักงานทุกคนมีหน้าที่ทำงานโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว

            ในปี 1999 โครงการ PCI นี้ทำให้บริษัทประหยัดเงินไปถึง 45 ล้าน tolars (ประมาณ 300,000 euro)

ตารางแสดงจำนวนโครงการ PCI และผู้เข้าร่วมโครงการระหว่างปี 1996 – 1999

ปี

จำนวนโครงการ

จำนวนพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ

1996   

31

86

1997

23

66

1998

51

126

1999

59

202

 

 

กระบวนการดูแลทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง (process of continuous care for property: PCCP)

            บริษัทได้มอบหมายให้พนักงานหนึ่งคนดูแลทรัพย์สินของบริษัท เช่น สำนักงาน อุปกรณ์ สินค้า เป็นต้น พนักงานที่ได้รับมอบหมายต้องตรวจสอบความเรียบร้อยของทรัพย์สินที่ตนดูแลอยู่เสมอและต้องทำรายงานเสนอบริษัทเป็นระยะๆ ผลงานของพนักงานจะได้รับการตรวจสอบทุกเดือนและเสนอให้ผู้บริหารระดับสูงทราบ การมอบอำนาจให้พนักงานดูแลทรัพย์สินของบริษัทถือเป็นการให้พนักงานมีส่วนร่วม การให้อำนาจในรูปแบบหนึ่งโดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์และส่งเสริมให้พนักงานอุทิศตนให้องค์กร

 

บทเรียนจากบริษัท Trimo

การที่บริษัท Trimo ทำได้ในขณะที่อีกหลายบริษัทประสบความล้มเหลวนั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ คือ

1.      บริษัทเน้นเรื่องพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ฝ่ายบริหารของ Trimo เชื่อว่าบริษัทที่จะแข่งในตลาดโลกได้นั้นต้องอาศัยพนักงานที่มีความสามารถและตั้งใจทำงาน หากบริษัทต้องการผลิตสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมนั้น บริษัทต้องมีพนักงานที่มุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถตอบสนองความต้องการตลาดที่เปลี่ยนแปลง

2.      เป็นต้นแบบที่ดี ฝ่ายบริหารมีส่วนร่วมและเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

3.      กำหนดวิสัยทัศน์ชัดเจนตั้งแต่ต้น ตั้งแต่วันแรกที่บริษัทตัดสินใจปรับโครงสร้างของบริษัท บริษัทมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ฝ่ายบริหารให้การอบรมข้อมูลข่าวสารและให้พนักงานและให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้พนักงานเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น

4.      เห็นผลทันควัน ฝ่ายบริหารจัดการแจ้งพนักงานทุกคนทราบอย่างสม่ำเสมอว่าบริษัทก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงไร โดยผ่านการฝึกอบรม แจ้งข่าวข่าวสาร และให้พนักงานมีส่วนร่วม

 

ที่มา:

Corporate success through people: making international labour standards work for you โดย Nikolai Rogovsky และ Emily Sims


จัดเรียงและนำเสนอโดย Biz in Thai Team

 


ชื่อผู้ตอบ:

Visitors: 73,078
Icons made by Freepik from www.flaticon.com